ท่อน้ำเลี้ยง จากสปอนเซอร์ กำหนดชะตาชีวิต สโมสรฟุตบอลไทย แต่อนาคต ไทยลีก มีความมั่นคง และเป็นมืออาชีพกว่านี้แน่นอน
ตามที่เราได้ทราบกันแล้วว่า “มังกรไฟ” สโมสรบีอีซี เทโร ศาสน ประกาศขายทีมมาตั้งแต่จบฤดูกาล 2015 (พ.ศ. 2558) หลังต้องหล่นไปเล่นดิวิชั่น 1 ทว่า เคราะห์ดีที่สโมสรเพื่อนตำรวจ ติดปัญหาด้านตลาดหลักทรัพย์ จนต้องถูกตัดออกจากการแข่งขัน ทำให้ สโมสรบีอีซี เทโร ศาสน “มังกรไฟ” ยังสามารถผงาดรักษาสถิติเป็นทีมที่ไม่ตกชั้นไทยลีกนานที่สุด ตั้งแต่ปี 2539
แต่ถึงกระนั้น บมจ.บีอีซี เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ก็ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ได้ขายหุ้นของ บริษัท บีอีซี เทโร ศาสน จำกัด ให้แก่บริษัท อินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.สยามสปอร์ต) จำนวน 999,997 หุ้น หรือคิดเป็น 99.99% ของหุ้นทั้งหมด โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 135 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นเงินสด 90,000,000 บาท พร้อมได้สิทธิในการลงโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์อีก 45,000,000 บาท
โดย บมจ.บีอีซี เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ก็ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายหุ้นตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และลงนามในตราสารการโอนหุ้นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ก่อนจะมีการประกาศยกสิทธิ์การทำทีมให้กับ กลุ่มทุนอุดรธานี และเตรียมโยกไปใช้สนามกีฬาราชภัฏอุดรธานีเป็นรังเหย้าในปี 2017 (พ.ศ. 2560) เช่นเดียวกับทีม ไทยลีก “ยักษ์แสด” อุดรธานี เอฟซี ในลีกภูมิภาค
หากมองให้ลึกกว่านั้น สิทธิในการลงแข่ง ไทยลีก ไม่ใช่ของสโมสรบีอีซี เทโรศาสน แต่เป็นของอดีตนายกสมาคมฟุตบอลฯ นายวรวีร์ มะกูดี ที่ก่อตั้งทีมในชื่อ โรงเรียนศาสนวิทยา แต่ต้องวางมือลงหลังจากได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ แต่ก็ยังมีคนเชื่อว่า “บังยี” ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ยืมชื่อคนอื่นเข้ามาเป็นหัวโขนในการบริหารทีมเท่านั้น ทีนี้คงถึงบางอ้อกันแล้วสิว่าเหตุใด นายไบรอัน แอล มาร์คา ถึงถอดใจประกาศขายทีมบีอีซี เทโรฯ ที่ทำเงินและผลงานอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี มีผลงานหวานหอม ทั้งแชมป์ไทยลีก 2 สมัย (ปี 2543 - 2544), รองแชมป์เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก (ปี 2546), รองแชมป์เอฟเอคัพ (ปี 2552) และ แชมป์โตโยต้าลีกคัพ (ปี 2557)
น่าแปลกใจที่สิทธิในการลงแข่งขัน ไทยลีกกลับไม่ได้ขึ้นอยู่กับสโมสร แต่ขึ้นอยู่กับ “เจ้าของสิทธิ์” และให้หยิบให้ยืมสโมสรกันได้ ราวกับเสื้อวินมอเตอร์ไซค์ แบบนี้คงไม่แปลกใจหากจะมีใครซักคนที่มีสิทธิ์ในการแข่งขันไทยลีก นำคณะบริหารชุดใหม่ และนักเตะชุดใหม่ข้ามหัวนักเตะเดิมได้อย่างสบายตัว โดยไม่ต้องแข่งไต่ลีกขึ้นมาเหมือนทีมที่อยู่ต่ำชั้นกว่า เรื่องสิทธิ์ในการลงแข่งของ “มังกรไฟ” ก็นับเป็นเรืองหมกเม็ดอีกเรื่องของวงการฟุตบอลไทย ที่ยิ่งสาวใส้ยิ่งเหม็นโฉ่เข้าไปทุกที
ย้อนกลับไปช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา มีหลายทีมที่มีการปรับเปลี่ยนสิทธิ์ในการบริหาร อาทิ พัทยา ยูไนเต็ด หลังจากคว้ารองแชมป์ดิวิชั่น 1 ทำให้ได้สิทธิ์เลื่อนขึ้นสู่ ไทยลีก 2016 ทว่าเกิดปัญหาเมื่อ “พายุ” พรรณธฤต เนื่องจำนงค์ ประธานสโมสร ที่เพิ่งเข้าเทกโอเวอร์ทีมเมื่อต้นเดือนมกราคม 2558 ได้เลิกทำทีมต่อพร้อมคืนสิทธิ์การทำทีมให้เจ้าของเดิม คือ กลุ่มชลบุรี ทำให้ต้องมีการประกาศขายทีมพัทยา ยูไนเต็ด เพราะทางบอร์ดบริหารต้องการที่จะมุ่งเป้าพัฒนาสโมสรชลบุรี เอฟซี เพียงอย่างเดียว จึงต้องประกาศขายทีมพัทยาฯ ต่อแก่ผู้ที่สนใจรายอื่น
ก็เป็นเช่นกรณีเดียวกับ ศรีราชา เอฟซี และ พานทอง เอฟซี แม้ท้ายที่สุดก็ไม่มีการเปิดเผยว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าใดเป็นผู้คว้าสิทธิ์ในการทำ “โลมาน้ำเงิน” แต่ก็ปรากฏภาพ “บิ๊กเป้” รณฤทธิ์ ซื่อวาจา ผู้จัดการทีม เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด นั่งอยู่ในซุ่มม้านั่งสำรองบ่อยครั้ง หรือในกรณีของ “โปลิศ” เพื่อนตำรวจ ซึ่งมีข่าวลือมากมายเกี่ยวกับการค้างค่าเหนื่อยให้นักเตะในสังกัด จนนักเตะมีการย้ายทีมกันหลายคน ทำให้ร็อกสตาร์ชื่งดัง “เสก โลโซ” ตัดสินใจร่วมทำทีมฟุตบอลร่วมในสโมสร “เพื่อนตำรวจ” หลังคว้าแชมป์ “ยามาฮ่า ลีกวัน 2015” และได้เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่ลีกสูงสุด พร้อมคอนเฟิร์มในการเปลี่ยนชื่อทีมเป็น “โลโซโปลิศ ยูไนเต็ด” อย่างแน่นอน
และ“โลโซโปลิศ ยูไนเต็ด” ได้นำโลโก้ “โลโซดี” ประทับลงบนเสื้อทีมอีกด้วย แต่ไม่ทันไร “เสี่ยบิ๊ก” สัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ประธานบริหารทีมเพื่อนตำรวจ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี พร้อมถูกตรวจสอบ และอายัดเส้นทางการเงินจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หลังส่อแววนำเงินทุจริตไปใช้ในการบริหารสโมสรฟุตบอล ซึ่งส่งผลให้สโมสรเพื่อนตำรวจจะถูกตัดสินห้ามเข้าแข่งขันทุกรายการที่จัดฤดูกาล 2016 พร้อมทั้งต้องปล่อยผู้เล่นทั้งหมดออกหาต้นสังกัดใหม่
ในรายสโมสรฟุตบอลของโอสถสภาฯ ที่ถือเป็นสโมสรฟุตบอลที่เก่าแก่ของไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2520 แต่ในปี 2558 โอสถสภา ได้มอบสิทธิ์การบริหารสโมสรทั้งหมดให้กับ บ.สโมสรฟุตบอล ซุปเปอร์ พาวเวอร์ จำกัด และเปลี่ยนแปลงชื่อสโมสร เป็น “ซุปเปอร์พาวเวอร์” ถือเป็นการสิ้นสุดสโมสรโอสถสภาฯ ที่ใช้ชื่อนี้ มาอย่างยาวนานถึง 38 ปี หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารถัดมาเพียง 1 ปี ทีมก็ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้มีกระแสข่าวว่ากำลังประกาศขายสิทธิ์ให้กลุ่มทุนจาก จ.สมุทรสาคร เข้ามาเทกโอเวอร์ ทว่าไม่ทันต่อการส่งคลับไลเซนซิ่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ทีมไม่สามารถเปลี่ยนชื่อและโยกไปใช้สนามสมุทรสาครได้ ทำให้ดีลนี้ต้องล่มไปในที่สุด และผู้บริหาร “พลังเอ็ม” ยังคงเดินหน้าหากระเป๋าใบใหม่มาอุ้มสโมสรให้อยู่รอดในไทยลีก 2017 ต่อไป
หรืออย่างกรณีสโมสรฟุตบอล “สระบุรี เอฟซี” ที่สปอนเซอร์หลักอย่าง บริษัท กัล์ฟ เจพี จำกัด ถอนการสนับสนุนระหว่างฤดูกาลกระทบต่อการบริหารงานของทีม โดยเฉพาะการจ่ายเงินเดือนนักฟุตบอล จนต้องถอนตัวจากการแข่งขันฟุตบลถ้วยในประเทศ อย่าง เอฟเอคัพ และลีกคัพ
ดังนั้น การหวังพึ่งท่อน้ำเลี้ยงจากสปอนเซอร์เป็นหลัก จึงถือเป็น 1 ใน “ความเสี่ยง” ที่สโมสรฟุตบอลของอาชีพของไทย หากวันใดผลงานไม่เป็นไปตามเป้า หรือกระแสความนิยมลดลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเรื่องนี้ทาง “บิ๊กโจ” พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการ และโฆษกประจำสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ยังหาทางแก้ไม่ได้ เนื่องจากผู้บริหารหลายสโมสรยังต้องการเห็นผลกำไรจากการทำทีมฟุตบอล เมื่อไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้จึงมีการถอนตัวออกไปในที่สุด
“ปัจจุบันสมาคมฟุตบอลฯ ได้ออกกฏคลับไลเซนซิ่งเพื่อควบคุมดูแลทุกสโมสรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีกฎห้ามการปรับเปลี่ยนสโมสรอย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้ทีมมีความมั่นคง แม้จะยังช่วยให้ทุกทีมพัฒนาเท่าเทียมกันได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าในอนาคตไทยลีกจะมีความมั่นคง และมีการแข่งขันที่สนุกสนามกว่านี้แน่นอน” โฆษกประจำสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย กล่าว
Cr. ผู้จัดการ
No comments:
Post a Comment