Friday, January 6, 2017

นวัตกรรมล่าสุด การผ่าตัดสมอง ด้วยการใช้เลเซอร์ ที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เสียเนื้อสมองน้อยลง

กล้องไมโครสโคป (Microscope)


นวัตกรรมล่าสุด การผ่าตัดสมอง  ด้วยการใช้เลเซอร์ ที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เสียเนื้อสมองน้อยลง


สมองมีความสำคัญมากสำหรับร่างการของเรา การที่สมองทำงานบกพร่อง การใช้ชีวิตประจำวันบางส่วนก็จะเริ่มผิดปกติ รวมถึงมีโรคภัยต่างๆตามมา การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ควบคุมความเครียด จึงถือเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสมองให้ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันแนวทางการรักษาเนื้องอกในสมองมีอยู่ 3 วิธีใหญ่ๆ คือ การผ่าตัดโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกแนวทางการรักษาโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น อาการของผู้ป่วย ตำแหน่งของเนื้องอก และขนาดของเนื้องอก

หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่มีลักษณะไม่ใช่เนื้อร้าย หรือมะเร็ง เนื้องอกที่ไม่ได้เกิดอาการและมีขนาดเล็กมาก อยู่ในตำแหน่งของสมองที่ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียการทำงานของร่างกาย คุณหมอก็อาจเพียงแค่ติดตามอาการ เพื่อดูว่ามีการขยายตัวของเนื้องอกเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงค่อยทำการรักษา แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่และทำให้เกิดอาการบางอย่าง เช่น อ่อนแรงหรือปวดศีรษะมาก ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ หรือ การใช้ กล้องไมโครสโคป (Microscope)เพื่อเอาก้อนเนื้องอกออกไป ในกรณีที่ผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว หากพบว่าเป็นเนื้อร้ายก็อาจต้องทำการฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย

ดูไปแล้วก็เหมือนการรักษาโดยทั่วไป ที่มีขั้นตอนการรักษาตามวิถีทางการแพทย์ อย่างการผ่าตัดโดย การใช้ กล้องไมโครสโคป (Microscope) บวกกับสารเรืองแสง ช่วยให้เห็นส่วนที่เป็นเนื้องอกดีขึ้น เท่านั้น แต่การผ่าตัดเนื้องอกในสมองไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ เพราะเนื้อสมองเมื่อถูกตัดออกไปแล้ว ไม่สามารถงอกออกมาผสานส่วนที่ถูกตัดออกไปได้ ซึ่งแน่นอนว่า ความสามารถในการใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งอาจต้องสูญเสีย หรือถูกลดทอนลง และทุกพื้นที่ในสมองก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในบางตำแหน่งก็อาจจะตัดออกได้มาก และในบางตำแหน่งอาจตัดได้น้อยเพราะเป็นส่วนที่สำคัญมาก ซึ่งบางครั้งเนื้องอกจะแทรกไปตามส่วนสำคัญของสมองทั้งหมดในการผ่าตัด บางครั้งก็ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนระหว่างเนื้องอกกับเนื้อของสมองเอง

เท่าที่ผ่านมามีเทคนิคหลายอย่างเพื่อช่วยในการผ่าตัด เช่น การใช้สารเรืองแสงบางชนิด ซึ่งสารนี้จะทำให้เนื้องอกในกลุ่มที่เป็นเนื้องอกร้ายแรงมีลักษณะเรืองแสงขึ้นมาให้เห็นเด่นชัด นอกจากนั้น ยังมีการผ่าตัดโดยการใช้ Computer based เป็นตัวไกด์ตำแหน่งของเนื้องอก รวมถึงขอบเขตของเนื้องอก ใช้คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ในการจำลองเนื้องอกและแนวทางของเส้นประสาทของสมอง และยังมีการอัลตราซาวนด์เพื่อดูขอบเขตของเนื้องอก แต่วิธีทั้งหมดนี้ก็ยังมีอุปสรรคในขั้นตอนของการผ่าตัดอยู่ เพราะเมื่อทำการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะขึ้นมา ภาพที่เราเห็นจากในคอมพิวเตอร์กับเนื้อสมองของจริงจะมีความแตกต่างกัน สมองอาจจะเลื่อนตำแหน่งจากเดิม เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก และการใช้ กล้องไมโครสโคป (Microscope) บวกกับสารเรืองแสง แม้จะช่วยให้เห็นส่วนที่เป็นเนื้องอกดีขึ้น แต่ก็ทำได้เฉพาะในกลุ่มที่เป็นเนื้องอกร้ายแรงเท่านั้น

นวัตกรรมล่าสุดในปัจจุบันมีการคิดค้นเครื่องมือที่เรียกว่า ไทม์ รีซอลว์ เลเซอร์ (Time Resolved Laser Device) เป็นการใช้เลเซอร์ที่ไม่มีอันตรายต่อคนเรายิงเข้าไปที่เนื้องอกในสมอง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ จะมีพลังงานเข้าไปในตัวเนื้อเยื่อที่กระทบถูกเลเซอร์ พลังงานที่เข้าไปนี้ในที่สุดก็จะสะท้อนกลับออกมา ช่วยให้แพทย์สามารถทราบได้ถึงลักษณะของเนื้อเยื่อที่สะท้อนพลังงานออกมา และแยกได้ว่าเป็นเนื้อเยื่อประเภทใด ขนาดเท่าไหร่ การใช้ไทม์ เลเซอร์ รีซอลว์จะทำให้สามารถตัดเนื้องอกได้มากเพิ่มขึ้น กำหนดขอบเขตได้ดีขึ้น เสียเนื้อสมองน้อยลง ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อพัฒนาให้สมบูรณ์แบบ

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยเราได้มีโอกาสอัพเดตความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการผ่าตัดเนื้องอกสมองและมะเร็งสมองจากศัลยแพทย์สมองชื่อดังของโลก ศ.นพ.คีธ แอล. แบล็ค (Keith L. Black) ผู้อำนวยการสถาบันศัลยกรรมระบบประสาทแมกซีน ดันนิทซ์ แห่งซีดาร์-ไซไนน์ เมดิคัล เซ็นเตอร์, ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ว่า เป็น 1 ใน 20 บุคคลที่ทรงคุณค่าในศตวรรษที่ 21 และยังเคยขึ้นหน้าปกและลงตีพิมพ์เป็นบทความในนิตยสารไทม์ พ.ศ.2540 ในฐานะหนึ่งในวีรบุรุษทางการแพทย์ (Heroes of Medicine) เขามีผลงานบทความด้านวิทยาศาสตร์กว่า 260 เรื่อง ซึ่งมีคนในวงการเดียวกันคอยติดตามศึกษามาโดยตลอด ผลงานของเขายังถูกนำไปเป็นหัวข้อพูดคุยในสื่อระดับโลกต่างๆอย่างต่อเนื่องจำนวนมาก

คุณหมอแบล็คกล่าวว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีในการผ่าตัดสมองได้ก้าวไปไกลมาก จากเดิมการใช้ กล้องไมโครสโคป (Microscope) บวกกับสารเรืองแสง เป็นใช้เลเซอร์ ทำให้การผ่าตัดสมองมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ล่าสุดได้มีการวิจัยร่วมกับ BDMS ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผ่าตัดสมองโดยสูญเสียพื้นที่สมองส่วนดีน้อยที่สุด ซึ่งนี่เป็นเพียงก้าวแรกของการยกระดับความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้านศัลยกรรมสมอง ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยด้วยโรคเนื้องอกหรือมะเร็งสมองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ง่ายและได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ เพราะสมองมีความแตกต่างจากอวัยวะส่วนอื่น ซึ่งเมื่อสูญเสียไปแล้วไม่สามารถสร้างเซลล์เพิ่มขึ้นมาได้อีก แม้ในปัจจุบันการผ่าตัดเนื้องอกในสมองจะมีวิวัฒนาการใหม่ๆเข้ามาสนับสนุนมากมาย แต่เครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อการตัดสินใจว่า จะต้องผ่าตัดในสมองออกไปกว้างเท่าใดจึงจะปลอดภัยต่อการลุกลามของโรค และรักษาพื้นที่สมองส่วนที่ดีเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อประสิทธิภาพของการทำงานเชื่อมต่อกับอวัยวะอื่นๆของร่างกายในภายหลังนั้น คือความยากในการผ่าตัด ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์และการวิจัยอย่างรอบคอบในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยในเวลาที่จำกัด แต่ด้วยความร่วมมือกับ BDMS ในครั้งนี้จะทำให้ผู้ป่วยอีกมากมายในซีกโลกตะวันออก ที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกสมอง จะมีทางเลือกในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเปี่ยมประสิทธิภาพที่มีอยู่ในขณะนี้”

สมอง ทำหน้าที่หลักในการควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว จดจำพฤติกรรม และรักษาสมดุลภายในร่างกาย เช่น การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต สมดุลของเหลวในร่างกาย และอุณหภูมิจำนวนเซลล์สมองที่มีมากถึง 1-1.2 หมื่นล้านเซลล์ อัดแน่นอยู่ภายในสมองเล็กๆของเรา โดยแต่ละเซลล์สมองมีเส้นใยในการเชื่อมต่อคลื่นกระแสไฟฟ้าเคมีถึงกัน ในอนาคตยังจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับสมองถูกคิดค้นขึ้นมาอีกมากมาย โดยเฉพาะโรคที่กำลังเพิ่มสถิติมากขึ้นในแต่ละปีอย่างอัลไซเมอร์ ถ้าเมืองไทยเราได้เป็นศูนย์กลางการรักษาโรคเกี่ยวกับสมองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนมากได้รับการเยียวยาโดยไม่ต้องเดินทางไปรักษายังประเทศที่ห่างไกล แต่ทั้งนี้ การรักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ

Cr.ข่าวไทยรัฐ

No comments:

Post a Comment